วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เด็กอัจฉริยะ

เด็กอัจฉริยะ
อัจฉริยะ (Genius) จริงๆแล้วหมายถึงความสามารถทางปัญญาสูง มีสมรรถนะในการคิด ประดิษฐ์ สรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆให้แก่โลกมนุษย์ ถ้าพูดถึงอัจฉริยะนึกถึงใครกันบ้างคะ ในหลวงของเราก็ได้รับการยกย่องว่า เป็นพระผู้มีอัจฉริยะภาพ ดังที่พวกเราทุกคนได้ประจักษ์ดี แต่ถ้าให้เป็นสากลหน่อยก็ต้อง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ล่ะ อัจฉริยะภาพนั้นจะวัดได้ก็เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ และสร้างสรรค์ผลงานออกมาจนเป็นที่ยอมรับแล้ว แต่สำหรับคุณหนูๆทั้งหลาย จะเรียกว่าเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านค่ะ สังเกตได้จากพฤติกรรมเหล่านี้
1. แสดงความสามารถในการใช้ศัพท์ได้สูงกว่าวัย เช่น ลูกอายุ 2 ขวบ สามารถพูดว่า "แม่หมากำลังมาหาลูกหมาแล้ว" แทนที่จะพูดว่า "หมา หมา" เป็นต้น
2.
ช่างสังเกต และตื่นตัวอยู่เสมอ เด็กที่เก่งมักจะสังเกตในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และจำได้ดี
3.
สามารถอธิบายเรื่องราวที่ได้ทำมาในวันนั้นได้อย่างดี
4.
มีสมาธิ ตั้งใจทำอย่างใจจดใจจ่อ ในเรื่องที่ตนสนใจ
5.
มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถแสดงออกมาได้ เป็นต้น
หากท่านค้นพบว่าลูกท่านมีความสามารถพิเศษอย่างเพิ่งตื่นเต้นดีใจ
การปฏิบัติตัวของผู้ปกครอง
คุณพ่อคุณแม่คะ อย่าเพียงหลงว่าลูกเป็นเด็กพิเศษเพราะยีนของเรา เพราะจริงๆแล้วคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ของความเป็นผู้ให้ อย่างไม่มีวันหยุดสิ้นแหละนะคะ ที่พูดมานี่ก็เพื่อจะบอกว่าสิ่งแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเจริญเติบโตของเด็กค่ะ มาดูกันนะคะว่า เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อพบว่าลูกของเรามีความสามารถพิเศษ
1.      จัดบรรยากาศ และเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นคว้าอย่างเหมาะสมกับวัย เด็กทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วค่ะ
2.      ให้เด็กได้เล่นกับผู้อื่น หรือพบเพื่อนใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทางสังคม และอารมณ์ในการรู้จัก แพ้ชนะ ให้อภัย และช่วยเหลือผู้อื่น เด็กจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
3.      ให้โอกาสเด็กได้สัมผัสสิ่งแปลกใหม่โดยพาไปพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน สวนสัตว์ เที่ยวตามธรรมชาติ อย่าพาไปแต่ห้างสรรพสินค้า หรือเล่นเครื่องเล่นเพียงเท่านั้นนะคะ พูดถึงตรงนี้ก็มีเรื่องเศร้าจะเล่าสู่กันฟัง ปูเคยถามน้อง 2 ขวบกว่าๆว่ารู้จักน้ำตกไหมคะ เขาตอบว่ารู้จักครับ เลยถามต่อว่าอ๋อ..หนูเคยไปเที่ยวน้ำตกไหนมาคะ น้องเขาบอกว่าที่หน้าโรงแรมเจ้าพระยาไงครับ ปูก็เลยอึ้ง อึ้ง ไปเลยหัวเราะไม่ออกนะคะ
4.      ต่อมาก็ต้องทำตัวเป็นเด็ก เวลาอยู่กับเด็กๆ สนุกไปกับเขาตามประสาเด็กๆ ถ้าผู้ใหญ่สามารถทำงานได้สนุกอย่างที่เวลาเด็กๆตั้งใจเล่น ซึ่งก็คืองานของเขาเหมือนกัน ดูสิคะว่าใครอยากจะหยุดงานบ้าง ขณะเล่นก็แทรกความรู้ให้เด็กๆ โดยการถามตอบปัญหากันอยู่เสมอ อย่ากังวลว่าจะตอบไม่ได้นะคะ บอกไปเลยว่านั่นสินะ พ่อไม่รู้เหมือนกันเดี๋ยวไปหาคำตอบแล้วจะกลับมาบอกละกันนะครับ แค่นี้ก็ผ่านฉลุย วันหน้าวันหลังเราก็ไปหามาตอบตามสัญญา ได้ความรู้กันทั่วหน้าเลย
5.      เล่นสนุกก็อย่าลืมสังเกตเด็กด้วยนะคะ เราต้องประเมินความสนใจของเด็ก เพื่อจะได้ส่งเสริมในสิ่งที่เขาถนัด แล้วอย่าลืมแนะกิจกรรมอื่นๆให้เขาได้รู้จักด้วย ไม่ใช่ว่าลูกชอบวาดภาพก็ให้ทำแต่ศิลปะ จนไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกีฬา หรือดนตรีบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น