วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

เด็กกิ๊ฟเต็ด อัจฉริยะสร้างชาติ

"เด็กกิ๊ฟเต็ด" อัจฉริยะสร้างชาติ"

     "การค้นหาเด็กกิ๊ฟเต็ด (Gifted Child) หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ควรเริ่มสังเกตตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ และไม่เกิน 8 ขวบเป็นดีที่สุด เพราะถ้าช้ากว่านี้ หากเด็กคนไหนมีแววเป็นเด็กเก่ง มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน แววนั้นก็จะค่อยๆเลือนหายไปและดับลงไปอย่างน่าเสียดาย"
       เพราะประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่ยังต้องการการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การกีฬา หรือแม้แต่การบริหารด้วยเหตุนี้ การพัฒนาศักยภาพของคนในชาติ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ จึงนับเป็นสิ่งสำคัญและควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนา "คนเก่ง" ที่ว่ากันว่าจะต้องเริ่มตั้งแต่ "วัยเยาว์"
    ท่ามกลางการตื่นตัวและการส่งเสริมในเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกิ๊ฟเต็ด (Gifted Child) หรือที่มีความสามารถพิเศษในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประเทศไทยอาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังมุ่งมั่นในการค้นหาและ เจียระไนเพื่อให้ได้มาซึ่ง "เพชรเม็ดงาม" ด้วยการจัดการศึกษาที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นแก่บุคคลเหล่านั้น โดยถือว่าสิ่งนั้นเองจะทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี
    "เด็กกิ๊ฟเต็ด ก็คือเด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน ทั้งสติปัญญา ความคิด การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานด้านทัศนศิลป์ ความสามารถด้านดนตรี-กีฬา และความสามารถทางวิชาการให้คนอื่นได้เห็นประจักษ์ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้ก็เรียกได้ว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย เพียงแต่ขาดการค้นหาและรองรับในทางที่เหมาะสมเท่านั้น"
    ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานสหพันธ์เอเชีย-แปซิฟิกแห่งสภาโลกเพื่อเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กล่าวถึงความหมายของเด็กกิ๊ฟเต็ด พร้อมแสดงทรรศนะเกี่ยวกับช่วงเวลาในการค้นหา ตลอดจนวิธีการส่งเสริมการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้อย่างถูกต้องว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในการเรียนรู้มากมายและแตกต่างกัน โดย เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัย 6 ขวบ ที่
     กล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่ศักยภาพทางกายและสติปัญญากำลังเต็มไปด้วยพลังแห่ง การเรียนรู้
    แน่นอนที่สุด..การค้นหาเด็กกิ๊ฟเต็ด หรือเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ จึงควรอย่างยิ่งที่จะเริ่มสังเกตตั้งแต่ช่วงวัยนี้ เพราะมีเด็กหลายสาขาที่สามารถวัดแววได้ตั้งแต่แบเบาะ โดยสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้เป็นอันดับแรกเลยก็คือ การตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หากอยู่ในวัย 2-3 ขวบ เด็กที่เก่งทางสติปัญญาจะสามารถเรียนรู้ได้เร็วพูดได้เร็ว มีความจำแม่นยำ หากเก่งด้านภาษาก็จะสามารถเรียนรู้คำศัพท์ได้มากกว่าคนอื่นๆ ขณะเดียวกันความสามารถพิเศษบางสาขาอาจไม่แสดงออกมากนักในช่วงแระเกิดจนถึงวัยอนุบาล เช่น นักกีฬา เพราะต้องรอให้ร่างกายโต แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าความสามารถ
    พิเศษที่มีอยู่ในตัวเด็กจะฉายแววออกมาช้าหรือเร็ว ก็ควรอย่างยิ่งที่จะสังเกตให้เห็นก่อนอายุ 8 ขวบ เพราะถ้าช้ากว่านี้หากเด็กคนไหนมีแววเป็นเด็กเก่ง มีความสามารถ แต่ไม่มีใครสนับสนุน แววนั้นก็จะค่อยๆ เลือนหายและดับลงไปอย่างน่าเสียดาย
    ด้านการส่งเสริมด้านการศึกษาเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ผู้ปกครองหลายคนนึกไปถึงการจัดโรงเรียนพิเศษ ชั้นเรียนพิเศษให้เด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่ถึงขั้นนั้น แค่เพียงสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการทางการศึกษาของเด็กแต่ละคนน่าจะเพียงพอ โดยอาจทำได้หลายวิธี เช่น วิธีเพิ่มพูนประสบการณ์ เน้นที่กระบวนการการเรียนรู้มากกว่าเนื้อหา วิธีการสอนลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กพัฒนาสิ่งที่น่าสนใจได้ดียิ่งขึ้น หรือจะเป็น วิธีขยายหลักสูตร โดยการจัดโปรแกรมการศึกษานอกหลักสูตร พาเด็กเข้าไปร่วมกิจกรรมพิเศษที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น การลดระยะเวลาเรียน โดยให้เด็กข้ามระดับชั้นไปเรียนร่วมกับผู้อื่นที่สูงกว่า เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ยากขึ้น ให้เหมาะกับความสามารถของตนเอง รวมถึง การให้ผู้เชี่ยวชาญพิเศษมาเป็นผู้แนะนำ ในสิ่งที่เด็กมีความสามารถโดดเด่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการจัดการศึกษาที่ดีให้กับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ นี้ไม่ควรยึดหลักของวิธีการใดวิธีหนึ่ง ควรใช้หลายๆ วิธีควบคู่กันไป เพื่อจะได้เกิดความยืดหยุ่น
    การค้นหาและสนับสนุนเด็กไทยที่มีความสามารถพิเศษให้ไปถึงจุดหมาย คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝันอีกต่อไป หากพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนครู-อาจารย์พร้อมใจให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
    การหันมาส่งเสริมในสิ่งที่ลูกชอบและถนัดอย่างเต็มที่ นับเป็นเรื่องที่ดี ที่นอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัวแล้ว ประเทศชาติก็จะมั่นคงแข็งแกร่ง ด้วยแวดล้อมไปด้วยคนเก่ง
     เลิกซะทีกับความคิดที่จะให้ลูกเรียน และเป็นในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ
     เพราะผลลัพธ์ที่ได้แม้ไม่ถึงกับสร้างความเจ็บปวดให้กับทั้งสองฝ่าย แต่ความสุขที่สัมผัส อาจเทียบไม่ได้กับความภูมิใจที่เห็นลูกเติบโตก้าวหน้า . . .
     เป็นสิ่งที่ "ใจของเขา" อยากจะเป็น . . .

แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
    วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2545 หน้า 5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น