วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

การดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ

ดร.ไพรัช สู่แสนสุข
ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข
โรงเรียนวิถีพุทธ

คือ โรงเรียนระบบปกติทั่วไปที่นำหลักธรรมพระพุทธศาสนามาใช้ หรือประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเด็กโดย เน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา อย่างบูรณาการ

รูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ จุดเน้น โรงเรียนวิถีพุทธดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา พัฒนาควบคู่ไปทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาอย่างบูรณาการ เด็กได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในทางคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตา เป็นฐานการดำเนินชีวิตโดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตรการพัฒนา ลักษณะโรงเรียนวิถีพุทธ เน้นการจัดสภาพทุก ๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียน พัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการที่ส่งเสริมให้เกิดความเจริญงอกงามตาม ลักษณะแห่งปัญญาวุฒิธรรม ๔ ประการ คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ หมายถึงการอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ มีครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี
๒. สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี
๓. โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ถูกต้องเหมาะสม
ห้องเรียน แหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม เป็นต้น ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต เช่น กิจกรรมประจำวัน กิจกรรมวันสำคัญ กิจกรรมนักเรียนต่าง ๆ ด้านการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่การกำหนดหลักสูตรสถานศึกษา การจัดหน่วยการเรียน แผนการจัดการเรียนรู้ จนถึงกระบวนการเรียนการสอน ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ในการปฏิบัติต่อกันระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน หรือครูกับครู การจัดสภาพแวดล้อมในแต่ละด้านจะมุ่งเพื่อให้การพัฒนานักเรียนตามระบบ ไตรสิกขา ดำเนินได้อย่างชัดเจนมีประสิทธิภาพ ดังเช่น

การจัดสภาพของโรงเรียนวิถีพุทธ ประกอบด้วย ด้านกายภาพ คือ อาคารสถานที่ต้องใก้ลชิดธรรมชาติ ต้นไม้ใบหญ้า สภาพชวนให้มีจิตใจสงบ ส่งเสริมปัญญา กระตุ้นการพัฒนาศรัทธา และศีลธรรม กิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต กระตุ้นให้การกิน อยู่ ดู ฟัง ดำเนินด้วยสติสัมปชัญญะในการรับรู้ที่ผ่านเข้ามาทาง หู ตา จมูก ลิ้น และนำมาวิเคราะห์ได้

ด้านการเรียนการสอน ครูต้องเข้าใจว่าพื้นฐานการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันการสอนจึงอาจ แตกต่างกัน มีการบูรณาการพุทธธรรมในการจัดการเรียนรู้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่เด็กเข้าใจ ได้ง่าย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง อาจเปรียบเทียบกับใบไม้แรกผลิจนเหี่ยวแห้งไป

ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ เอื้ออาทร เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ส่งเสริมทั้งวัฒนธรรมเมตตา และวัฒนธรรมแสวงปัญญา เป็นต้น

ลักษณะการเกื้อกูลสัมพันธ์ โรงเรียนวิถีพุทธและชุมชน

จะมีลักษณะของการร่วมมือ ทั้งสถานศึกษา บ้าน วัด และสถาบันต่างๆในชุมชน ด้วยศรัทธาและฉันทะ ที่จะพัฒนาทั้งนักเรียน และสังคม ตามวิถีแห่งพุทธธรรม เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน และเรียนรู้รากเหง้าวัฒนะธรรมอันดีงามของไทยอีกด้วย
การพัฒนาบุคลากรและคุณลักษณะบุคลากร
การพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธแม้จะยึดเด็กเป็นสำคัญ แต่บุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารและครู มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นปัจจัย ให้ผู้เรียนพัฒนาได้อย่างดี ทั้งการเป็นผู้จัดการเรียนรู้ และการเป็นแบบอย่างที่ดีในวิถีชีวิตจริง ในลักษณะ สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น การพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษามีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลาก หลายวิธีการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรมีคุณลักษณะที่ดีตามวิถีพุทธ เช่น ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และพัฒนาตนให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ละ เลิกอบายมุข การถือศีล 5 เป็นนิจ ความเป็นกัลยาณมิตรต่อศิษย์ และการเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นต้น

ก้าวย่างที่งดงามของโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นอีกความหวังที่ยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองและชุมชนในอันที่จะสานฝันให้เด็กและ เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณธรรม มีความรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง เป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ช่วยสร้างสังคมที่ดี สงบและสันติ

ดังคำกล่าวของพระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต) ที่ว่า “…โรงเรียน วิถีพุทธจะเดินหน้าต่อไปอย่างมีพลัง ในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกทั้งหมด ให้เป็นวิถีแห่งสันติสุขที่ยั่งยืนสืบไป ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น