วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลักสูตรการสอนแบบวอลดอร์ฟ

waldorf
  การศึกษาในโรงเรียนวอลดอร์ฟ มิใช่เป็นเรื่องของระบบวิธีการสอน หากแต่เป็นเรื่องของศิลปะ ศิลปะแห่งการปลุกสิ่งที่ดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนให้ตื่นขึ้นมา ฉะนั้น โรงเรียนวอลดอร์ฟ มิได้มุ่งหมายจะให้การอบรมสั่งสอน หากแต่มุ่งหมายจะปลุก โดยแรกสุดจะต้องปลุกครูขึ้นเสียก่อน จากนั้นครูจะต้องปลุกนักเรียนและอนุชนทั้งหลายอีกต่อหนึ่ง

ข้างต้นคือคำกล่าวของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาและนักการศึกษาชาวออสเตรีย ผู้ให้กำเนิดปรัชญาการศึกษาวอลดอร์ฟ และก่อตั้งโรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกขึ้นที่ประเทศเยอรมนี โดยมุ่งหมายให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างสมดุลครบถ้วนทั้งร่างกาย จิตใจ และปัญญา เพื่อเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งต่อมาได้กลายต้นแบบของเครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟจำนวนนับพันแห่งใน 50 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยคือ ศูนย์การเรียนปัญโญทัย ของ นพ.พร พันธุ์โอสถ

บ่มเพาะความเป็นมนุษย์ ปลุกศักยภาพในตัวเด็ก

โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงที่ชาวเยอรมันรู้สึกเจ็บปวดกับสงครามที่เพิ่งผ่านไป นักคิดและปัญญาชนจำนวนไม่น้อย ต่างมุ่งแสวงหาแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ขจัดความโหดร้ายทารุณต่อมนุษยชาติให้หมดสิ้นไป หนึ่งในนั้นคือนักอุตสาหกรรมหัวก้าวหน้านาม เอมิล มอลต์ เจ้าของโรงงานยาสูบวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ในเมืองสตุทการ์ด ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1919 เอมิลได้เชิญ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงขณะนั้นมาบรรยายให้คนงานที่โรงงานยาสูบฟัง ปรากฏว่าเอมิลรู้สึกประทับใจในสิ่งที่สไตเนอร์พูดเกี่ยวกับการสร้างสังคม ใหม่ จึงร้องขอให้สไตเนอร์ช่วยเปิดโรงเรียนขึ้นตามปรัชญาของเขา เพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานคนงานในโรงงาน

สไตนอร์ตอบกลับเอมิลไปว่า เขายินดีจะเปิดโรงเรียนตามคำร้องขอ ถ้าเอมิลยอมรับเงื่อนไข 4 ข้อของเขาได้ นั่นคือ

1.เป็นโรงเรียนที่เปิดกว้างสำหรับเด็กทุกคน
2.เป็นโรงเรียนสหที่เปิดรับเด็กชายหญิงเรียนร่วมกัน
3.เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาต่อเนื่อง 12 ปี และ
4.ครูและบุคลากรของโรงเรียนต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของโรงเรียน จะต้องไม่มีการแทรกแซงจากรัฐหรือแม้แต่นายทุนผู้ให้การสนับสนุนโรงเรียน (เอมิลนั่นเอง)

ผลปรากฏว่าเอมิลยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกจึงเกิดขึ้น และเปิดประตูรับเด็กนักเรียนในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ.1919

โรงเรียนวอลดอร์ฟดำเนินการตามแนวปรัชญาของสไตเนอร์ที่ว่า การ ศึกษาไม่ใช่เรื่องของการสอนหนังสือหรือการให้ข้อมูลความรู้แก่เด็ก แต่คือการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์และปลุกความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเด็ก ให้ปรากฏออกมา เพื่อช่วยให้เด็กบรรลุศักยภาพสูงสุดในตัวเอง เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์ มีอิสระทางปัญญา รู้จักตนเอง รู้จักโลก และสามารถกำหนดแนวทางชีวิตของตนได้อย่างอิสระตามศักยภาพที่มี ซึ่งมนุษย์จะบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนได้นั้น ต้องสัมผัสหรือค้นพบส่วนต่างๆ ในตนเองก่อน ดังนั้น การศึกษาวอลดอร์ฟจึงเน้นศึกษาเรื่องมนุษย์และความเชื่อมโยงของมนุษย์กับโลก และจักรวาล เพื่อให้มนุษย์รู้จักจุดยืนที่สมดุลของตนในโลก

สอนตามพัฒนาการ

สไตเนอร์แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ช่วงวัยศึกษาเรียนรู้ในระบบการศึกษาคือ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 21 ปี ออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 7 ปี ดังนี้

แรกเกิด-7 ปี    : เรียนรู้ด้วยการกระทำ ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กมุ่งมั่นตั้งใจกับการกระทำความดี

7-14 ปี            : เรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กรู้สึกถึงความงาม

14 -21 ปี          : เรียนรู้จากการคิด ดังนั้น การสอนต้องเน้นให้เด็กคิด จนเกิดปัญญา เห็นสัจธรรมและความจริงในโลก

แม้ว่าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกัน แต่การจัดการศึกษาในทุกช่วงวัยตามปรัชญาวอลดอร์ฟจะมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ ต้องพัฒนาร่างกายและจิตวิญญาณควบคู่กันไป โดยให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกาย (การลงมือทำ) หัวใจ (ความรู้สึก ความประทับใจ) และสมอง (ความคิด)

เด็กทุกคนมี  'เวลา'  ของตัวเอง

สไตเนอร์เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ในวัยเด็กนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีทัศนะและวิธีการมองโลกที่ต่างออกไป หากครูหรือนักการศึกษาละเลยความสำคัญของสิ่งนี้ แล้วแทนที่ด้วยการใช้ทัศนะแบบผู้ใหญ่ อันเป็นทัศนะที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทางเชาว์ปัญญา จะส่งผลเสียต่อความสามารถในการพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

ด้วยแนวคิดดังกล่าว ทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนวอลดอร์ฟอ่านหนังสือออกช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ในโรงเรียนอื่นๆ นั่นเพราะโรงเรียนวอลดอร์ฟจะไม่เร่งรัดให้เด็กอ่าน เพราะเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตนเอง ถ้าเด็กได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้ มองเห็นหนังสืออยู่รายรอบตัว และมีประสบการณ์ที่ครูหรือผู้ปกครองอ่านหนังสือนิทานให้ฟังเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดอยู่ภายใน เด็กจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเอง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เด็กพัฒนาการอ่านได้ดี และมีนิสัยรักการอ่าน

ทั้งนี้ พบว่าเด็กที่อ่านออกได้ช้ากว่าเพื่อนๆ แล้วรู้สึกวิตกกังวลหรือเกิดปมด้อยนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกของตน อ่านหนังสือออกเร็วๆ เมื่อเห็นว่าลูกยังอ่านไม่ได้ ขณะที่เด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ เช่น ลูกของเพื่อนบ้าน ลูกของญาติพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมชั้นของลูก อ่านกันได้แล้ว พ่อแม่จะเริ่มวิตกกังวล หวั่นเกรงว่าลูกจะผิดปกติ และความหวั่นวิตกของพ่อแม่นี่เองที่จะถ่ายทอดไปสู่ลูก ฉะนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จะต้องเข้าใจ ยอมรับ และรอเวลาที่เด็กพร้อมจะอ่าน

สุนทรียะ ศิลปะ และจินตนาการ

วอลดอร์ฟให้ความสำคัญกับสุนทรียภาพ ศิลปะ และจินตนาการ โดยมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ พัฒนาการ และความเจริญงอกงามในจิตใจของเด็ก การจัดสภาพแวดล้อมและอาคารสถานที่ในโรงเรียนจึงมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ รายล้อมด้วยต้นไม้ ดอกไม้ ผืนหญ้า และสายน้ำ มีแสงจากธรรมชาติสอดส่องเข้ามาในห้องหรืออาคารเรียนอย่างพอเหมาะ ไม่จ้าหรือมืดทึมจนเกินไป เพราะแสงจ้ามากๆ ทำให้เกิดความร้อนและเด็กจะขาดสมาธิ ครูอาจใช้ผ้าม่านมาช่วยกรองแสงให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ บรรยากาศเงียบสงบ ไม่มีเสียงดังรบกวน อาจมีเพียงเสียงแผ่วๆ จากธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง ลมพัด ฝนตก หรือเสียงดนตรีและเพลงที่ไพเราะอ่อนโยน สไตเนอร์เชื่อว่าสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะเอื้อต่อการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กรู้สึกสงบ มีสมาธิ และเรียนรู้ได้ดีทั้งโลกภายนอกและโลกที่อยู่ภายในตนเอง

จุดเน้นสำคัญประการหนึ่งของการศึกษาวอลดอร์ฟ คือ การกระตุ้นให้เด็กเกิดการพัฒนาด้วยจินตนาการของตนเอง ถ้าครูจะเล่าเทพนิยายให้เด็กปฐมวัย ครูจะเล่าปากเปล่า เพราะภาษาพูดของครูจะกระตุ้นให้เด็กสร้างจินตนาการภายในใจของแต่ละคน บางครั้งครูอาจเล่นนิ้วมือหรือหุ่นง่ายๆ ประกอบการเล่า แต่จะไม่ใช้สื่อมากเกินไป เพราะจะไปจำกัดจินตนาการของเด็ก รวมทั้งไม่ควรเปิดเทปนิทานแทนการเล่าปากเปล่า เพราะภาษาจากสื่อวิทยุเป็นภาษาที่ไม่มีชีวิต และไม่สามารถส่งพลังสั่นสะเทือน เข้าไปกระตุ้นการตอบสนองที่ละเอียดอ่อนภายในของเด็กได้ดีเท่าภาษาพูดจากครู ที่อยู่ตรงหน้า

ด้วยเหตุนี้โรงเรียนวอลดอร์ฟจึงไม่สนับสนุนการเรียนรู้ผ่านสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา เพราะเชื่อว่าสื่อเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิดีโอ และวิทยุ จะไปปิดกั้นจินตนาการของเด็ก ยังไม่นับรวมว่าบางรายการในสื่อเหล่านี้อาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับเด็กอีก ด้วย

อีกเอกลักษณ์หนึ่งของโรงเรียนวอลดอร์ฟคือ " ยูริธมี (Eurythmy) " ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายที่สไตเนอร์พัฒนาขึ้น เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายร่วมกับดนตรีและการพูด ยูริธมีจึงมีอีกชื่อว่า "เสียงพูดหรือดนตรีที่มองเห็นได้" สไตเนอร์ ชี้ว่าการฝึกยูริธมีจะช่วยจัดระเบียบและความกลมกลืนทั้งกายและจิตระดับต่างๆ ตัวอย่างเช่น ยูริธมีสำหรับเด็กปฐมวัยมักเป็นคำกลอนที่ผูกเป็นนิทานหรือเรื่องเล่าสั้นๆ ที่ให้เด็กทำท่าประกอบ ท่าทางที่ออกแบบมานั้นจะมีความสมดุลเปรียบเสมือนกับมีท่าที่เป็นลมหายใจเข้า และลมหายใจออก การเรียนยูริธมีจะทำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยมีครูพิเศษที่ผ่านการฝึกหัดมาโดยเฉพาะเป็นผู้สอน

นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนอื่นๆ อีกมากที่เป็นศิลปะ สร้างสุนทรียะและจินตนาการ เช่น การทำงานฝีมือ ที่ฝึกความอุตสาหะ สมาธิ ความละเอียดปราณีต และความคิดสร้างสรรค์ หรือการทำสวน ที่ช่วยให้เด็กได้สัมพันธ์กับพื้นโลก เรียนรู้คุณค่าและความยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน เป็นต้น

โรงเรียนวอลดอร์ฟก่อเกิดทฤษฎีการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ ที่เครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟทั่วโลกนำไปเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาที่ โรงเรียนของตน แต่สำหรับสไตเนอร์แล้ว หัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟนั้นคือ การที่ครูมีความรักต่อเด็กด้วยใจจริง และศรัทธาในพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเด็ก อันจะเป็นกุญแจไขนำไปสู่ขุมพลังในตัวเด็ก ก่อนจะกระตุ้นให้เด็กแสดงพลังนั้นออกมาและพัฒนาอย่างสูงสุดต่อไป

ข้อมูล
http://www.awsna.org
การศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) โดย ผศ.ดร.บุษบง ตันติวงศ์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น