วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว

อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว

คัดจากบทความหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่เขียนโดย ศาสตร์จารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ  ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ เกี่ยวกับ ปัญหาการเรียน และเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี  
“อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว” เป็นเรื่องที่ตรงกับชื่อหนังสือ เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่หลายๆท่านที่เป็นคุณพ่อดัน คุณแม่ดัน (ดันทุรังหรือเปล่าก็ไม่รู้) ได้มาอ่าน  จากบทที่ชื่อว่า “อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว” คงจะมีคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่าน ที่อ่านแล้วต้องคิดอยู่ในใจว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนหลอกที่จะยัดเยียดความล้มเหลวให้กับลูกของตัวเอง พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดี เรียนหนังสือดี เพราะพ่อแม่คิดเสมอว่าการเรียนดีจะเป็นหนทางให้เด็กก้าวไปสู่ความสำเร็จ และการมีชีวิตที่ดีในอนาคต ก็เป็นเหตุผลหนึ่งของความคิดของพ่อและแม่ที่มีความรักและห่วงกังวลพร้อมที่จะวางแผนในอนาคตให้กับลูก  แย้งกันไม่ได้เลยว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทกับเรื่องการเรียนของลูก วางแผนการเรียนของลูกว่าจะต้องเรียนแบบนี้นะเมื่อจบออกมาจะได้ทำงานแบบนี้ แบบนี้
     ในปัจจุบันนี้การเรียนของเด็กๆจะเริ่มมีการแข่งขันกันตั้งแต่เด็กยังไม่ออกมาลืมตาดูโลกเลยก็ว่าได้ เพราะอะไรก็เพราะว่าพ่อแม่พอเริ่มรู้ว่าตัวเองจะมีลูกก็นั่งนับวัน นับเดือนเลยว่าลูกจะออกมาเมื่อไหร่ และมีเกณฑ์เข้าเรียนเมื่อไหร่ ดังนั้นพ่อแม่ก็จะไม่รอช้าจะรีบสอบถามญาติพี่น้องรวมถึงเพื่อนๆว่ามีโรงเรียนที่ไหนที่เค้าว่า เป็นโรงเรียนมีการเรียนการสอนดี วิชาแข็งและเป็นโรงเรียนดังยอดนิยม บางโรงเรียนถึงกับต้องมีการกรอกใบสมัครจองเข้าเรียนกันตั้งแต่ลูกยังไม่เกิดเลยก็ว่าได้ (ดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน) นี่ยังไงที่บอกว่าเด็กยังไม่เกิดก็เริ่มมีการแข่งขันกันแล้วโดยการสมัครจองเพื่อให้ลูกมีชื่อเข้าเรียนได้เมื่อถึงเกณฑ์ พอลูกออกมายังไม่ทันจะมีเวลาได้เล่นตามวัยเลย ก็ต้องถูกพ่อแม่ยัดเยียดส่งให้ไปเรียนพิเศษตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เพื่อติวเข้มให้มีความพร้อมทางทักษะเพื่อไปเข้าโรงเรียนที่จองเอาไว้ตั้งแต่อยู่ในท้องกันเลยเชียว เมื่อเข้าได้สมใจคุณพ่อคุณแม่แล้วความเหน็ดเหนื่อยก็ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ต้องติวเข้มลูกเพื่อสอบทำคะแนนให้ได้ดีในชั้นเรียนอีก ซึ่งเรามองเห็นภาพในอนาคตเลยก็ว่าได้ ว่าความเหน็ดเหนื่อยแบบนี้มันจะเป็นแบบนี้ไปอีก 20 ปี 30 ปี เลยก็เป็นได้
     เมื่อเป็นแบบนี้แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่บอกว่า “อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว”   ก็เพราะความรักลูกมากและอยากเห็นอนาคตที่ดีของลูก จนพ่อแม่ลืมนึกไปว่า เด็กทุกคนมีความฉลาด และมีศักยภาพไม่เท่ากัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องยอมรับความจริงว่าลูกมีขีด ความจำกัดในการเรียนรู้ในห้องเรียน ลูกอาจจะไม่ใช่เด็กเรียนเก่งทางด้านวิชาการ เค้าคงจะสอบไม่ได้เกรด 4ทุกวิชา หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ เค้าอาจจะไม่ได้เรียนแพทย์  เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนวิศวกรรม ซึ่งเป็นการเรียนที่ยากและหนักสำหรับเค้าแต่นั้นก็ไม่ได้เป็นการชี้ว่าอนาคตของลูกจะมืดมนหรือเป็นคนที่ไม่มีความสำเร็จหรือเป็นคนล้มเหลวในเรื่องอนาคตภายภาคหน้า
     เด็กบางคนเรียนเก่ง และมีพรสวรรค์ในด้านอื่นๆหลายๆด้าน นอกเหนือจากการเรียนทางด้านวิชาการ แต่เด็กบางคนอาจจะไม่มีเลย ดังนั้นลูกของคุณพ่อ คุณแม่อาจจะมีอย่างอื่นดีหมด เว้นก็แต่เรื่องการเรียนทางด้านวิชาการเท่านั้นที่ไม่เก่งก็เป็นได้ ซึ่งมันก็เป็นการยากเหมือนกันสำหรับพ่อแม่หลายๆคนที่จะยอมรับความจริงได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ในอดีตเคยเป็นเด็กเรียนเก่ง และประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียนเรื่อยมา ดังนั้นจึงเป็นแรงกดดันให้คุณพ่อคุณแม่มีความคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นเด็กเรียนเก่งเหมือนพ่อกับแม่ ลูกจะต้องเรียนสายวิทย์ นะ หรืออย่างแย่ๆก็เรียนศิลป์คำนวน  ดังนั้นพ่อแม่ก็จะพยามสอดส่องหาที่เรียนพิเศษที่มีอาจารย์เก่งๆให้กับลูกและพาลูกไปสมัครเรียนพิเศษ แต่คุณพ่อ คุณแม่หาได้ถามความสมัครใจของลูกว่าอยากที่จะเรียนสายอะไร? หรือชอบที่จะเรียนพิเศษติวเข้มไหม? หรือถนัดเรียนแบบไหน?

    ความล้มเลวของลูกที่เกิดจากการยัดเยียด ด้วยความรักและหวังดีมากเกินไปสุดท้ายแล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกของเรา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นความล้มเหลวของลูกที่ต้องมาตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ หยุดยัดเยียดความฝันของพ่อแม่ให้กับลูก ความสำเร็จของลูกไม่จำเป็นจะต้องเรียนหนังสือเก่งที่สุดเสมอไป แต่ความสำเร็จของลูกควรจะเป็นความสำเร็จในสิ่งที่ลูกเลือก ในสิ่งที่ลูกถนัด แล้วความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจทั้งของลูกเอง และของคุณพ่อคุณแม่คุณพ่อ คุณแม่ลองกลับมาทบทวนดูใหม่อย่าปล่อยให้ทุกๆอย่างมันสายเกินไป 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น