ความสำคัญและธรรมชาติของเด็กปฐมวัย
เด็กปฐมวัยเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการทุกด้าน เด็กในวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กหรือครู จะต้องดูแลให้การอบรมเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด
มีความเข้าใจพัฒนาการและความต้องการของเด็ก เป็นแบบอย่างที่ดี
เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้และซึมซับสิ่งดีๆในชีวิต เมื่อเติบโตก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและมีบทบาทในการพัฒนาประเทศชาติได้
นักจิตวิทยาและนักการศึกษามีแนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของเด็กปฐมวัย ดังนี้
ซิกมัน ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ให้ความสำคัญของเด็กวัย 5 ปีแรกว่า
"เป็นวัยที่สำคัญของชีวิต เขาเชื่อว่าวัยนี้เป็นรากฐานของพัฒนาการด้านบุคลิกภาพและแม่พ่อจะมีอิทธิพลอย่างสูงต่อบุคลิกภาพและสุขภาพจิตของเด็ก" อิริคสัน นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ได้ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยว่า
"เป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น
ส่วนบุคลิกภาพจะสามารถพัฒนาได้ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าแต่ละช่วงอายุของเด็ก
จะประสบสิ่งที่พึงพอใจตามขั้นพัฒนาการต่างๆ ของเด็กแต่ละวัยมากเพียงใด
ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองต่อสิ่งที่ตนพอใจ เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพที่ดีและเหมาะสม
ซึ่งจะพัฒนาครอบคลุมถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย
ดังนั้น พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กในวัยนี้เป็นอย่างมาก
จากความเห็นของนักจิตวิทยาและนักการศึกษาดังกล่าวสรุปได้ว่า
"วัยที่เริ่มต้นของชีวิต คือช่วงอายุ 5-6 ปีแรก เป็นวัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิต
ดังนั้น พ่อแม่และครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพและสุขภาพจิตของเด็กมาก
หากเด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีย่อมส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
นอกจากนี้ครูผู้สอนยังมีบทบาทในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก
ซึ่งตัวครูจะต้องเห็นความสำคัญและเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้เสียก่อน
จึงจะสามารถจัดประสบการณ์ให้สอดคล้องและส่งเสริมพัฒนาการในแต่ละด้านได้"
ธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาด้านบุคลิกภาพมากที่สุด
ธรรมชาติของเด็กในวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากเห็น มีความสงสัยในสิ่งต่างๆ ชอบถามจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน
เด็กวัยนี้เริ่มแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาให้เห็น เช่น การเลียนแบบพ่อแม่ ครูและเพื่อนในวัยเดียวกัน
เด็กวัยนี้ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สามารถเข้าใจความคิดเห็นของผู้อื่น จะคิดว่าสิ่งที่ตนรับรู้คนอื่นก็รับรู้ด้วย
มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผยและเปลี่ยนแปลงอารมณ์ได้ง่ายๆ
ดังนั้นครูหรือผู้เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กจะต้องเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของเด็ก
เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย
ขอบคุณที่มา
http://wanrak.blogspot.com/2008/01/blog-post_21.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น