วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เร่งรัด เร่งลูกเรียน


เป็นธรรมดาของพ่อแม่ที่จะใฝ่ฝัน ให้ลูก ประสบความสำเร็จ ได้เรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และด้วยความปรารถนาดีๆ ของพ่อแม่นี่เอง ที่นำไปสู่การพยายามให้เด็กๆ อ่าน เขียนได้เก่งๆ เร็วๆ  เพื่อจะได้ไปต่อสู้ในสังคมที่การแข่งขันสูงได้ เด็กๆเอง ก็มักจะตอบสนองด้วยการมานะบากบั่นให้ตนเองทำได้ตามความปรารถนาของพ่อแม่ด้วย เพราะ คำชม ความพอใจ ของพ่อแม่เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเด็กๆ
แต่ หลายๆครั้งผู้ใหญ่เราก็เผลอ ไป ผลักดันเด็กมากเกินไป  เช่น เห็นว่าน่าจะทำได้มากกว่านี้เร็วกว่านี้อีก  เด็กคนอื่นยังทำได้เลย และก้าวข้ามเส้นบางๆที่กั้นระหว่าง การส่งเสริม ให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ กับ การผลักดันเด็กมากเกินไป และ ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับความสำเร็จนี้ก็คือ เด็กที่ถูก ผลักดันเกินไป มักจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ ขาดแรงจูงใจ เพราะ  ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เบื่อการเรียนรู้   ขาดทักษะในการแก้ปัญหา  และ ไม่สามารถมีความสุขจากภายใน ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงชื่นชม ความสำเร็จ ภายนอกตลอดเวลาค่ะ แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำลังก้าวข้ามเส้นของความพอดี ไปหรือเปล่า
ลองหาเวลาพูดคุย ฟังเสียงของเด็กๆดูนะคะ ว่า รู้สึกยังไงบ้าง  ยังสนุกดีอยู่หรือเปล่า  เบื่อมั้ย  ให้เด็ก ได้เป็น “ ผู้เรียน” ไม่ใช่ ..ผู้รับ” โดยดูจากเด็ก มีความกระตือรือร้น อยากเรียนรู้ สนใจ อยากมีส่วนร่วมด้วยไม่ควรใส่กิจกรรมต่างๆมากเกินไป จนเด็กไม่มีเวลาได้วิ่งเล่น ออกกำลังกาย ฟังนิทาน ฝึกช่วยทำงานบ้าน และพักผ่อน  เด็กๆ ควรจะได้รู้สึกว่า ความรัก  จาก พ่อแม่ และคุณครู ไม่ใช่สิงที่ต้องแลกมาด้วยการ ประสบความสำเร็จ ในการเรียน หรือ กิจกรรมใดๆ  ได้รับรู้ว่า ไม่ว่าหนูจะ ทำได้แค่ไหน พ่อแม่ก็ยังรักหนู  และ ภูมิใจในตัว หนูในแบบที่หนูเป็น ที่หนูเมี จิตใจดี มีความอดทน พยายามที่จะทำเรื่องยากๆ ไม่ใช่เพราะหนูเป็นเด็กเรียนเก่ง 
พ่อแม่ ผู้ใหญ่รอบๆตัว ควรหมั่นดูใจ และ  ทันใจตนเอง ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น เพื่อ ลูก เพื่อให้เด็กได้มีความสุขไปกับ พัฒนาการการเรียนรู้  หรือ เรากำลังทำ เพื่อตอบสนอง ความต้องการ ของตัวเราเองที่จะให้ลูก ประสบความสำเร็จ ได้ดั่งใจเรา
สุดท้าย ฝึกให้เด็กๆ มีโอกาสได้ ทบทวนชีวิตในแต่ละวัน ว่า วันนี้มีเรื่องดีๆ อะไรเกิดขึ้นบ้าง และ ขอบคุณ  กับ สิ่งดีๆ เรื่องงดงามต่างๆรอบตัวที่เกิดขึ้นกับชีวิตเล็กๆของเรา เด็กๆก็จะเกิดการเรียนรู้ที่จะมองตนเอง  มองโลกรอบๆตัว ในมุมที่ หลากหลาย  กว้างขวางไปกว่า แค่การพยายาม เป็นคนประสบความสำเร็จ ทำอะไรได้เก่งกว่าคนอื่น ค่ะ
โดย พญ.ศิริรัตน์ อุฬารตินนท์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)
กรมการแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข

ที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=696015

อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว

อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว

คัดจากบทความหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือที่เขียนโดย ศาสตร์จารย์แพทย์หญิง อุมาพร ตรังคสมบัติ  ซึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ เกี่ยวกับ ปัญหาการเรียน และเทคนิคช่วยให้ลูกเรียนดี  
“อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว” เป็นเรื่องที่ตรงกับชื่อหนังสือ เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่หลายๆท่านที่เป็นคุณพ่อดัน คุณแม่ดัน (ดันทุรังหรือเปล่าก็ไม่รู้) ได้มาอ่าน  จากบทที่ชื่อว่า “อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว” คงจะมีคุณพ่อคุณแม่หลายๆท่าน ที่อ่านแล้วต้องคิดอยู่ในใจว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนหลอกที่จะยัดเยียดความล้มเหลวให้กับลูกของตัวเอง พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดี เรียนหนังสือดี เพราะพ่อแม่คิดเสมอว่าการเรียนดีจะเป็นหนทางให้เด็กก้าวไปสู่ความสำเร็จ และการมีชีวิตที่ดีในอนาคต ก็เป็นเหตุผลหนึ่งของความคิดของพ่อและแม่ที่มีความรักและห่วงกังวลพร้อมที่จะวางแผนในอนาคตให้กับลูก  แย้งกันไม่ได้เลยว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนที่จะไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทกับเรื่องการเรียนของลูก วางแผนการเรียนของลูกว่าจะต้องเรียนแบบนี้นะเมื่อจบออกมาจะได้ทำงานแบบนี้ แบบนี้
     ในปัจจุบันนี้การเรียนของเด็กๆจะเริ่มมีการแข่งขันกันตั้งแต่เด็กยังไม่ออกมาลืมตาดูโลกเลยก็ว่าได้ เพราะอะไรก็เพราะว่าพ่อแม่พอเริ่มรู้ว่าตัวเองจะมีลูกก็นั่งนับวัน นับเดือนเลยว่าลูกจะออกมาเมื่อไหร่ และมีเกณฑ์เข้าเรียนเมื่อไหร่ ดังนั้นพ่อแม่ก็จะไม่รอช้าจะรีบสอบถามญาติพี่น้องรวมถึงเพื่อนๆว่ามีโรงเรียนที่ไหนที่เค้าว่า เป็นโรงเรียนมีการเรียนการสอนดี วิชาแข็งและเป็นโรงเรียนดังยอดนิยม บางโรงเรียนถึงกับต้องมีการกรอกใบสมัครจองเข้าเรียนกันตั้งแต่ลูกยังไม่เกิดเลยก็ว่าได้ (ดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้นเหมือนกัน) นี่ยังไงที่บอกว่าเด็กยังไม่เกิดก็เริ่มมีการแข่งขันกันแล้วโดยการสมัครจองเพื่อให้ลูกมีชื่อเข้าเรียนได้เมื่อถึงเกณฑ์ พอลูกออกมายังไม่ทันจะมีเวลาได้เล่นตามวัยเลย ก็ต้องถูกพ่อแม่ยัดเยียดส่งให้ไปเรียนพิเศษตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เพื่อติวเข้มให้มีความพร้อมทางทักษะเพื่อไปเข้าโรงเรียนที่จองเอาไว้ตั้งแต่อยู่ในท้องกันเลยเชียว เมื่อเข้าได้สมใจคุณพ่อคุณแม่แล้วความเหน็ดเหนื่อยก็ยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ต้องติวเข้มลูกเพื่อสอบทำคะแนนให้ได้ดีในชั้นเรียนอีก ซึ่งเรามองเห็นภาพในอนาคตเลยก็ว่าได้ ว่าความเหน็ดเหนื่อยแบบนี้มันจะเป็นแบบนี้ไปอีก 20 ปี 30 ปี เลยก็เป็นได้
     เมื่อเป็นแบบนี้แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่บอกว่า “อย่าทำให้ลูกเป็นคนล้มเหลว”   ก็เพราะความรักลูกมากและอยากเห็นอนาคตที่ดีของลูก จนพ่อแม่ลืมนึกไปว่า เด็กทุกคนมีความฉลาด และมีศักยภาพไม่เท่ากัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ต้องยอมรับความจริงว่าลูกมีขีด ความจำกัดในการเรียนรู้ในห้องเรียน ลูกอาจจะไม่ใช่เด็กเรียนเก่งทางด้านวิชาการ เค้าคงจะสอบไม่ได้เกรด 4ทุกวิชา หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จในด้านวิชาการ เค้าอาจจะไม่ได้เรียนแพทย์  เรียนวิทยาศาสตร์ เรียนวิศวกรรม ซึ่งเป็นการเรียนที่ยากและหนักสำหรับเค้าแต่นั้นก็ไม่ได้เป็นการชี้ว่าอนาคตของลูกจะมืดมนหรือเป็นคนที่ไม่มีความสำเร็จหรือเป็นคนล้มเหลวในเรื่องอนาคตภายภาคหน้า
     เด็กบางคนเรียนเก่ง และมีพรสวรรค์ในด้านอื่นๆหลายๆด้าน นอกเหนือจากการเรียนทางด้านวิชาการ แต่เด็กบางคนอาจจะไม่มีเลย ดังนั้นลูกของคุณพ่อ คุณแม่อาจจะมีอย่างอื่นดีหมด เว้นก็แต่เรื่องการเรียนทางด้านวิชาการเท่านั้นที่ไม่เก่งก็เป็นได้ ซึ่งมันก็เป็นการยากเหมือนกันสำหรับพ่อแม่หลายๆคนที่จะยอมรับความจริงได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ในอดีตเคยเป็นเด็กเรียนเก่ง และประสบความสำเร็จในเรื่องการเรียนเรื่อยมา ดังนั้นจึงเป็นแรงกดดันให้คุณพ่อคุณแม่มีความคาดหวังว่าลูกจะต้องเป็นเด็กเรียนเก่งเหมือนพ่อกับแม่ ลูกจะต้องเรียนสายวิทย์ นะ หรืออย่างแย่ๆก็เรียนศิลป์คำนวน  ดังนั้นพ่อแม่ก็จะพยามสอดส่องหาที่เรียนพิเศษที่มีอาจารย์เก่งๆให้กับลูกและพาลูกไปสมัครเรียนพิเศษ แต่คุณพ่อ คุณแม่หาได้ถามความสมัครใจของลูกว่าอยากที่จะเรียนสายอะไร? หรือชอบที่จะเรียนพิเศษติวเข้มไหม? หรือถนัดเรียนแบบไหน?

    ความล้มเลวของลูกที่เกิดจากการยัดเยียด ด้วยความรักและหวังดีมากเกินไปสุดท้ายแล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกของเรา มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเป็นความล้มเหลวของลูกที่ต้องมาตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ หยุดยัดเยียดความฝันของพ่อแม่ให้กับลูก ความสำเร็จของลูกไม่จำเป็นจะต้องเรียนหนังสือเก่งที่สุดเสมอไป แต่ความสำเร็จของลูกควรจะเป็นความสำเร็จในสิ่งที่ลูกเลือก ในสิ่งที่ลูกถนัด แล้วความสำเร็จนั้นจะนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจทั้งของลูกเอง และของคุณพ่อคุณแม่คุณพ่อ คุณแม่ลองกลับมาทบทวนดูใหม่อย่าปล่อยให้ทุกๆอย่างมันสายเกินไป