วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การสอนวิชาภาษาไทยในชั้นอนุบาล

การสอนวิชาภาษาไทยในชั้นอนุบาล

ดร. อารี สัณหฉวี

ที่ใช้ชื่อเรื่อง “การสอนวิชาภาษาไทยในชั้นอนุบาล” นี้ ก็เพื่อให้ฟังดูขลังๆเท่านั้นเอง ที่จริงการสอนการสอนวิชาภาษาไทยในชั้นระดับโรงเรียนอนุบาลเป็นกิจกรรมฝึกและพัฒนาทักษะภาษาไทย คือ คิด ฟัง อ่าน เขียน มิใช่การสอนแบบเอาจริงเอาจังเป็นงานเป็นการอย่างในระดับชั้นประถม

ก่อนที่จะกล่าวถึงกิจกรรมฝึกทักษะภาษาไทยในชั้นอนุบาลใคร่จะขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัย 2-6 ปีก่อน เด็กวัย 2-6 ปีนี้ เปียเจต์ (Piaget) กล่าวว่าเป็นวัยที่เด็กเรียนรู้ภาษาได้มากเด็กจะสนใจฟังเสียงและพยามยามเข้าใจความหมายและพยายามพูด

เด็กวัยนี้ชอบเล่นแสดงบทบาทสมมุติในห้องเรียนโรงเรียนอนุบาลจะมีมุมต่างๆเช่น มุมบ้าน มุมศิลปะ มุมเกมการศึกษา มุมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ร้อยลูกปัด ตัดกระดาษ คีบของด้วยตะเกียบ เวลาเล่นตามมุม เด็กจะสนทนากันแต่ในระยะเริ่มต้น ครูจะต้องฝึกนำสนทนา เช่น การชวนเพื่อนมาอยู่ในมุมเดียวกัน และการพูดคุยในเรื่องที่กำลังทำอยู่

ไวกอตสกี (Vygotsky) กล่าวว่า พัฒนาการทางภาษาจะพัฒนาได้ดีจากการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบซึ่งกันและกัน

นายแพทย์ อุดม เพชรสังหาร ได้กล่าวถึงความสำคัญของเซลล์สมองกระจกเงาว่าช่วยให้เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ ในการฝึกพัฒนาทักษะภาษา เด็กจะเรียนรู้จากเสียง สำเนียง ท่าทาง สีหน้าและเด็กจะเลียนแบบคนใกล้ชิด

เพราะฉะนั้นการสอนภาษาไทยเด็กวัยนี้ ครูควรต้องเป็นครูที่ช่างซักถาม พูดคุย ฟังนักเรียนอย่างตั้งใจ ใช้เสียงที่เหมาะสมนุ่มนวล มีทักษะในการเล่าเรื่องและการฟังอย่างตั้งใจ

เด็กในโรงเรียนอนุบาลจะอายุตั้งแต่ 2 ถึง 6 ปี เด็กส่วนใหญ่เริ่มพูดเป็นคำๆได้ประมาณ 1 ขวบครึ่ง เมื่อมาเข้าโรงเรียนอายุ 2 ปีจะยังพูดไม่ค่อยได้มากนัก ครูตั้งใจฟังและสังเกตอากัปกริยา ครูพูดกับเด็กช้าๆชัด เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้คำใหม่ๆ เช่น เด็กพูดว่า “ หิวนอน หิวนอน ” ครูพูดช้าๆชัดๆว่า “ อ้อ หนูง่วงนอนแล้ว ไปนอนกันเลยนะคะ “

ตอนเช้าพบกันคุณครูทักทายพูดคุยกับนักเรียน ตลอดจนสนทนาทักทายกับผู้ปกครองเพื่อจะได้รู้จักเด็กใกล้ชิดขึ้น

การสอนอ่าน

หาภาพโปสเตอร์ และครูเขียนคำคล้องจอง คำกลอน เพลงสั้นๆ ติดที่ฝาผนังห้องเรียน ครูนำอ่าน “หนังสือฝาผนัง” ทุกวัน วันละประมาณ 5-8 นาที เช่น



กุ๊ก กุ๊ก ไก่ เลี้ยงลูกมาจนใหญ่ ไม่มีนมให้ลุกกิน
ลูกร้องเจี๊ยบเจี๊ยบ แม่ก็เรียกมาคุ้ยดิน
ทำมาหากินตามภาษาไก่เอย.

บทร้องคำคล้องจองของไทยมีมากอยู่ ครูใช้ให้เด็กฝึกพูด ออกเสียง ทำท่าทาง เช่น

ลูกเป็ดเดินไปลูกไก่เดินมา
ลูกแมวเที่ยวหาลูกหมาแอบนอน
ก้าบ ก้าบ ก้าบเป็ดอาบน้ำในคลอง
แต่ก็จ้องแลมองเพราะในคลองมีหอยปูปลา


บทคล้องจองนี้ ครูเขียนหรือพิมพ์ตัวใหญ่ ดำ ชัด ติดที่ฝาผนังห้องเรียน อ่านทุกวันตอนเช้าและบ่าย ครั้งละประมาณ 5 – 6 นาที ครูอาจจะเปลี่ยนบทร้องฝาผนังนี้ทุกสัปดาห์ แผ่นที่อ่านแล้วครูนำมาเข้าเล่มวางไว้ เด็กจะย้อนกลับมาพลิกอ่าน

สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล 1 ขึ้นไป ตอนเช้าในกิจกรรมวงกลม ครูให้นักเรียนมานั่งเป็นวงกลม ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟัง หนังสือรูปภาพขนาด 8 ยก หรือกระดาษขนาด A 4 หนังสือมีรูปภาพและประโยคสั้นๆ ครูอ่านแล้วเด็กฟังทั้งเล่ม ปกติหนังสือจะประมาณ 8 – 16 หน้า ครูอ่านนำให้นักเรียนอ่านตาม ครูชี้แต่ละคำที่จะอ่าน อ่านด้วยกัน เช่น มีใครบ้าง ทำอะไร ทำไมจึงทำเช่นนั้น ถ้าเป็นนักเรียนจะทำอย่างไร เด็กจะได้พูดคุยคิดลำดับเรื่อง คิดหาเหตุผล การอ่านให้ฟังและอ่านตามเช่นนี้ เรียกว่า “ อ่านด้วยกันทั้งชั้น “ ( shared reading ) หลังจากนี้ครูแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ 3 – 5 คน ในแต่ละวัน ครูจะวนให้นักเรียนมาอ่าน กับครูวันละ 2 กลุ่ม กลุ่มที่เหลือจะเข้ามุมกิจกรรมเสรีที่ครูจัดไว้ การที่ครุให้เด็กมาอ่านกับครูทีละกลุ่มเช่นนี้ ครูจะได้มีโอกาสฟังเด็กอ่านทีละคน ถ้าเด็กอ่านไม่ได้ครูก็จะบอก จุดสำคัญคือครูต้องมีโอกาสได้ฟังเด็กทีละคน ถ้าวันไหนได้มาอ่านกับครู 2 กลุ่ม ภายใน 3 – 4 วัน ครูจะได้มีโอกาสฟังและช่วยแนะเด็กได้ครบทุกคน

การอ่านของเด็กระยะนี้ เด็กจะอ่านจากความเข้าใจ ความจำ จากรูปภาพ เด็กจะยังอ่านไม่ออก แต่เด็กอ่านจากความจำ ซึ่งระยะนี้ครูต้องอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า เด็กอ่านได้ แต่ยังอ่านไม่ออก สะกดตัวไม่ได้ แต่เด็กมีความสนุก ภาคภูมิใจที่จำได้ อ่านได้ ไม่พูดย้ำว่าอ่านปาวๆ แต่อ่านไม่ออก ครูต้องอธิบายให้ผู้ปกครองฟังเพื่ออธิบาย ญาติ พี่ น้อง อื่นๆด้วยว่า การที่เด็กชอบอ่าน เพราะเข้าใจเรื่อง จะช่วยให้เด็กคุ้นกับหนังสือและจะมีนิสัยรักการอ่านต่อไป ถ้าครูหรือผู้ปกครองไปเน้นให้อ่านออก สะกดคำได้ จะทำให้เด็กรู้สึกว่ายาก เครียด จะทำให้ไม่เกิดนิสัยรักการอ่าน

แต่ในขณะเดียวกัน ครูก็ควรมีโปสเตอร์ คำและภาพ ตัวพยัญชนะ สระ ตลอดจน การผันวรรณยุกต์ เช่น

กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
ขา ข่า ข้า
คา ค่า ค้า

ที่จริงถ้าจะทำโปสเตอร์ ครูเขียนให้เด็กครบทุกเสียง เช่น

กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
คา ข่า ข้า ค้า ขา

ครูนำโปสเตอร์ พยัญชนะ 3 หมู่

พยัญชนะเสียงกลาง ก จ ด ต.....
พยัญชนะเสียงสูง ข ก ส........
พยัญชนะเสียงต่ำ ค ท ซ........
เสียงพยัญชนะ สระ ให้เด็กท่องเล่นๆ สนุก เพื่อช่วยเมื่อเวลาเรียนผันวรรณยุกต์ ชั้น ป.1 จะเข้าใจดีขึ้น โดยทำโปสเตอร์พยัญชนะ สระ ติดฝาผนังห้องเรียน อ่ากับเด็กทุกวันตอนเช้าหรือกลางวัน

ระยะนี้เด็กอนุบาล 2 – 3 บางคน สามารถ เริ่มชี้คำง่ายๆในหนังสืออื่นได้ เช่น “ นก ช้าง โรงเรียน “ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ครูสอนเป็นคำๆ ครูจะสอนการสะกดตัว การผันในชั้นอนุบาล 3 เทอมที่ 2 ได้ แต่ก่อนหน้านี้เป็นการปูพื้น

การสอนเขียน

เด็กอายุต่ำกว่า 6 – 7 ขวบ กระดูกนิ้วมือไม่แข็งแรงจึงไม่ควรบังคับให้เด็กเขียนตัวหนังสือ และกระดาษฝึกเขียนขั้นแรกไม่ควรมีเส้นบรรทัด ครูให้กระดาษว่างๆ และสีเทียนให้เด็กวาดภาพหรือเขียน เด้กต้องการสื่อความหมายโดยการวาดภาพ ครูอาจจะถามเด็กว่าวาดรูปอะไร ถ้าเด็กตอบว่า “ แมว “ ครูเขียนตัวหนังสือ “ แมว “ ที่ริมกระดาษและพุดคุยกับเด็กว่า “ ที่บ้านหนูมีแมวหรือคะ “

การฝึกเขียนนอกจากจะให้เด็กวาดแล้วกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การร้อยลูกปัด ตัดกระดาษ พับกระดาษ ใช้ตะเกียบคีบของ ก็ช่วยพัฒนานิ้วมือ ครูอาจนำเด็กเล่นเกมคลานไปทั่วห้อง (เริ่มเล่นได้เทอม 2 ของอนุบาล1 )เพื่อให้ไหล่แข็งแรง หรือกลิ้งตัวจากด้านหนึ่งของห้องไปฝั่งตรงข้าม การฝึกแบบนี้ช่วยในการทรงตัวและการเขียน

การที่เด็กได้อ่านจากโปสเตอร์เรื่องข้างฝา และจากการอ่านหนังสือร่วมกันทั้งชั้นจะช่วยให้เด็กอยากเขียน ครูสอนโดยการอ่านให้ฟังแล้วชี้ตัวหนังสือ ให้เด็กลอกตาม การเขียนแบบนี้เด็กได้เข้าใจเรื่องก็จะเขียนด้วยความเต็มใจ การฝึกเขียนระดับอนุบาล ควรใช้กระดาษ A 4 มีที่ว่างครึ่งหน้าตอนบนสำหรับให้เด็กวาดรูป เด็กเขียนหนังสือ 2 บรรทัดล่าง

อา ดู งู
ปู ดู อา


ขอสรุปตอนท้ายว่าการสอนภาษาไทยในชั้นอนุบาล ควรให้เด็กได้คุ้นเคยกับหนังสือ ตัวหนังสือ ฝึกให้เด็กพูด คุย ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง และที่สำคัญที่สุดคือ ครูควรเป็นนักเล่านิทาน ถ้าครูไม่ถนัดก็หาหนังสือนิทานที่พิมพ์ขายทั่วไปหรือในห้องสมุดโรงเรียน ถ้าเล่าได้โดยไม่ต้องดูหนังสือ ก็จะมีโอกาสได้เห็นอากัปกริยาของเด็ก แต่ถ้ายังไม่ถนัดก็อ่านจากหนังสือ แต่ครูควรอ่านทำความคุ้ยเคยกับเรื่องที่จะอ่านหรือเล่าก่อน การอ่านนิทานทุกวันเสนอแนะให้อ่านตอนบ่ายก่อนเลิกเรียน การเล่านิทานเป็นการฝึกทักษะการฟังและเสริมสร้างจินตนาการเพราะเวลาฟังเด็กจะติดตาม วาดภาพในใจ ซึ่งจะฝึกให้เด็กมีจินตนาการกว้างขวางต่อไป

และที่ใคร่ขอเสนอแนะอีกเรื่อง คือ แต่ละห้องเรียน ควรมีหนังสืออ่านประกอบสำหรับเด็กไว้หลายๆเล่มให้เด็กเปิดดูในมุมเสรี ( มุมหนังสือ ) หนังสือประเภทนี้จะมีรูปภาพเต็มหน้า และมีตัวหนังสืออีกหน้าซึ่งมีข้อความเพียงประโยคสั้นๆ

ส่วนโปสเตอร์ที่ติดข้างฝาผนังห้องเรียนอาจซื้อได้ เช่น โปสเตอร์ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ บทคล้องจอง นิทานสั้นๆ การที่ให้สิ่งแวดล้อมในห้องเรียนมีหนังสือ ตัวหนังสือจะช่วยให้เด็กคุ้นเคย ทำให้อ่านออกเร็วขึ้นเมื่อถึงเวลาสอนสะกดคำ

อนึ่ง ถ้าผู้ปกครองสนใจที่จะช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านและอ่านหนังสือได้ดีก็อาจจะแนะนำให้ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟังโดยอ่านให้รู้เรื่องไม่กังวลจะต้องสอนให้เด็กอ่านออก การที่เด็กหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เปิดได้ถูกและอ่านได้ทุกคำ ในระดับต้นนี้ เด็กอ่านจากความทรงจำ ควรจะพอใจ ให้เด็กชินกับหนังสือ มีความสุขในการดูภาพ อ่านดังๆได้ เมื่อถึงชั้นอนุบาลถึง ป.1 เด็กก็จะสามารถเรียนและเข้าใจการสะกดตัวได้ แต่สิ่งที่จะเป็นนิสัยติดตัว คือ นิสัยรักการอ่าน รักที่จะเขียน ซึ่งถ้าเร่งรัดสอนภาษาไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่อนุบาล 1,2 จะทำให้เด็กรู้สึกยาก เครียด ถ้าคิดว่าอ่านไม่ถูก เขียนไม่ถูก มะม่วงที่สุกตามธรรมชาติ ย่อมมีรสดีกว่ามะม่วงอ่อนมาบ่ม ฉันใด การเร่งสอนให้เด็กเรียนภาษาก่อนวัยที่เหมาะสมก็จะเป็นฉันนั้น

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เดินเล่นยามเช้า

ช่วงนี้คงเป็นช่วงเวลาแห่งการปิดเทอมของเด็กๆหลายคน
การได้นอนตื่นสาย ไม่ต้องโดนขุดไปจากเตียงเพื่อเลี่ยงรถติด
ได้ใช้ช่วงชีวิตที่ไม่รีบเร่งเคร่งเครียดนอนเต็มเหยียด คงเป็นอะไรที่สุดเสนวิเศษ
ส่วนมีฮาเธอยังคงไม่ได้สัมผัสรสชาติแบบนั้น
แล้วพ่อก็หวังว่าจะปกปักษ์รักษาไม่ให้หนูต้องไปทนกับบรรยากาศอันแสนจะคร่ำเครียดแบบนั้นไปได้นานๆ

เช้านี้ก็เป็นอีกเช้าที่แสนจะเรียบง่ายของชายที่เรียกตัวเองว่า"พ่อ"
กับผู้หญิงตัวน้อยที่เรียกตัวเองว่า "ลูก" สองพ่อลูกออกเดินออกจากบ้าน
เพื่อไปทักทายคุณพระอาทิตย์ แต่แล้ววันนี้หนาพระอาทิตย์คงตื่นสาย
ก็มันได้บรรยากาศขนาด ฝนปรอยๆ อากาศครึ้ม สายลมอ่อนๆ มันช่างน่านอนนัก
ผิดกับคุณลูกรัก ที่คึกคักอยากออกจากบ้าน ก็อยากออกไปก็ไม่ว่ากัน
เตือนกันไว้แล้วนะ ว่าฝนอาจจะตก แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยืนยันจะออกไปให้ได้
เอาไงเอากัน ฝนตกก็หาที่หลบ ไม่มีก็เล่นน้ำฝนกันไปแล้วกัน บ่ยั่น
เดินไปได้ 10 นาที ก็เริ่มมีเม็ดๆหยดแหมะแฉะหัว เอาไงกันดี ไปต่อหรือกลับ
ถามคุณลูกบังเกิดเกล้า ได้ความว่า "เอา ไปต่อ" พ่อก็ไม่ขัด
เดินขึ้นสะพานข้ามคลอง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ปึง ระหว่างที่แวะซื้อ สาคูจากป้าที่หาบขนมขาย
ยังไม่ทันได้จ่ายตังค์เลยนะ ฝนกระหน่ำมากมาย เอ๊าไป๊ วิ่งๆๆๆ วิ่งมาแอบอยู่ชายคาบ้านหลังหนึ่ง
ซึ่งเขาทำหลังคายื่นออกมา คิดว่ามันคงตกไม่นาน แต่รอแล้วรอเล่า ตูดเริ่มแฉะและหลังเริ่มเปียก
ยืนหันซ้ายขวา แบบว่าต้องปกป้องคุณลูกโดยให้เธออยู่ชิดรั้วให้มากที่สุด พ่อก็เอาตัวบังหลังเปียกกันไป
พี่ยามทนไม่ไหว เลยเดินเอาร่มมาให้แล้วบอกว่าไปยืนรอที่บ้านหลังโน้นดีกว่าครับ
รับร่ม ขอบคุณครับ เผ่นอย่างไว ไปถึงก็ได้เจอป้าที่พึ่งขายขนมให้บนสะพานตะกี้
พอได้มาเจอป้า เท่านั้นมีฮาเธอก็ทำหน้าที่นางงามมิตรภาพ คุยจ้อกับป้า
แล้วก็อยากจะลองหาบอย่างป้าบ้าง แต่เป็นอันว่า ไม่ได้นะคะ ส่วนสูงเธอหน่ะ ต้องอีกหลายปีเลยหล่ะจะทำแบบป้าได้
ท่าหาบของเธอ

พอผ่านไหมท่าหาบ 555

พ่อก็เลยถามป้าว่าทำขนมเองหรือครับ ป้าก็ตอบว่า "ทำเองหมดเลย"
ทำไว้ตั้งแต่คืนวานเหรอครับ คำตอบของป้าคือ "ตื่นมาทำตอนตีสาม แบบอยากให้มันสดใหม่ ลูกค้ากินอร่อย ไม่เสียไว"
ป้านี่ยกย่องเลยทีเดียว แบบว่ามีความซื่อตรงต่อลูกค้ามากๆ และนี่ก็คงเป็นบุญของมีฮาที่ได้เจอคนอย่างป้า

หลังจากนั้น มีฮาเธอก็เริ่มอาสาจะขอไปขายของช่วยป้า ป้าถามว่าาจะขายราคาเท่าไหร่
มีฮาตอบป้าว่า " 3 บาท " ป้าเอามือกุมขมับ "ขาดทุน เจ๊งกันหมดพอดี ป้าขายอันละ 10 บาทนะ"
จากนั้นมีฮากต่อรอง " ขาย 5 บาทได้ไหม" ป้าเลยบอกว่า "ได้ แต่ต้องแบ่งครึ่งถุงให้ลูกค้านะ"
คุยกันอยู่นานมาก กว่าฝนจะหยุด สุดท้ายฝนก็หยุดเสียที มีฮาเลยได้ยกมือไหว้ขอบคุณป้า ขอให้ป้าขายดีๆ ส่วนมีฮาก็อุดหนุนไป 4 ห่อระหว่างรอฝนตก อิ่มแปร้กันไป

แม้จะอิ่มแต่ภารกิจพิชิตโจ๊กที่ตั้งใจตั้งแต่แรกยังคงต้องสานต่อ เดินต่อไปแล้วก็ถามลุงยามที่ขี่จักรยานผ่านมาว่าโจ๊กขายไหมวันนี้ ได้ความว่าฝนตกหนัก แม่ค้าเก็บร้านไปก่อนแล้ว ก็เลยเป็นอันว่าแห้ว
จากนั้นกำลังคิดว่าจะกลับบ้านกันเลยไหม ระหว่างที่กำลังตัดใจสิน ฝนห่าใหญ่ก็เทลงมาอีก
คราวนี้เลยต้องเผ่นเข้าร้านก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าบอกว่าก๋วยเตี๋ยวกำลังตั้งหม้อไม่ร้อนเลย 
มีฮาเลยแต่นั่งรอดูว่าป้าทำก๋วยเตี๋ยวทำยังไงบ้านในช่วงตั้งหน้าร้าน ได้เห็นตั้งแต่ป้าล้างผัก
หั่นหมู จัดของ จัดโต๊ะ นั่งคุยกับไป อันไหนไม่เข้าใจก็ถามป้า อย่างเช่น
"ทำไมต้องเอาผักมาเยอะขนาดนี้" มีฮาถามป้า
"ต้องเตรียมไว้เผื่อลูกค้ามาเยอะ" ป้าตอบ
แล้วก็อีกหลายต่อหลายคำถาม ที่ซักถามผ้า ถามจนเป็นอันว่า ป้าถามคืนว่า "เอาเส้นอะไร"
แล้วก็ได้กินก๋วยเตี๋ยวสมใจ กินไปรอฝนหยุดไป แล้วในที่สุดฝนก็หยุด พ่อลูกจ่ายตังค์ ขอบคุณคุณป้า
เป็นอันว่าได้กลับบ้านเสียที เช้านี้ออกจากบ้านมานานกว่าทุกทีเลย แต่คุ้มมากมายกับผู้คนที่แสนดี
ประสบการณ์อีกมากมายที่ได้มอบให้หนูน้อยมีฮา